วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พูดอย่างไรให้คนเชื่อ

"คนพูดเป็น"

เมื่อสมัยเด็ก ๆ ผมได้ยินแม่เล่าให้ฟังว่า เด็กที่เกิดมาเป็นใบ้พูดไม่ได้นั้น ส่วนใหญ่เขาจะหูหนวกประสาทการรับฟังจะไม่ดีด้วยเสมอ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ผมถามแม่ แม่เล่าว่าธรรมชาติเขาสร้างมาคู่กัน เพราะเด็กใบ้พูดไม่ได้เวลาได้ยินหรือรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากคนรอบข้างมากเข้า ๆ แล้วไม่สามารถพูดตอบโต้ได้เขาจะอัดอั้นตันใจจนอาจจะอกแตกตายได้

ผมฟังเรื่องที่คุณแม่เล่าแล้วก็นึกสงสารเด็กใบ้ที่พูดไม่ได้เหล่านั้นเหลือเกิน แล้วก็ให้หวนคิดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกนึกคิดและการสื่อสารออกมาเป็นคำพูดของมวลมนุษยชาติว่าช่างมีความสำคัญยิ่งใหญ่อะไรปานนี้

การพูดเป็นการสื่อความหมาย(Communication)ซึ่งกันและกันในสังคม ดังนั้นการพูดจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของมนุษย์เรา บางคนบอกว่าการพูดนั้นเป็นเรื่องของทั้งศาสตร์(Science)และศิลป์(Art)เพราะต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน(study and practice)และเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ(doing) ดังนั้นการพูดจึงเป็นเรื่องของทั้งวาทศาสตร์และวาทศิลป์ประกอบกันและอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกเลยทีเดียวเชียวครับ และแม้ว่าโลกของเราจะพัฒนาไปสู่ยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม วิวัฒนาการของการพูดก็ได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา เพื่อน ๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าในสังคมที่เราอยู่ร่วมกันทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือใหญ่ก็ตาม คนที่พูดเก่ง พูดเป็น พูดได้ดี พูดแล้วน่าฟังนั้นมักจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ อยู่เสมอใช่ไหมครับ

และพวกเราทุกคนที่มาลงเรียนกระบวนวิชาการพูด(Speaking ๐๑๔๓๐๔)โดยถ้วนหน้ากันทั้ง ชีวิตในเทอมนี้ ก็เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วนะครับว่าพวกเราต่างก็มุ่งหวังที่จะมาเรียนรู้และฝึกหัดเพื่อการเป็น "นักพูดที่ดี"กัน และแน่นอนครับเราย่อมไม่ผิดหวังแน่นอนเพราะนอกจากเราจะได้รับความรู้และการฝึกปฏิบัติจากอาจารย์ผู้สอนแล้ว วันนี้ผมยังมีเคล็ด(ที่ไม่ลับ)ของการเป็น"นักพูดที่ดี"มาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนด้วยครับ

ดังได้กล่าวมาแล้วนะครับว่า การพูดเป็นเรื่องของการศึกษาเรียนรู้และการฝึกฝนดังนั้น เรื่องของการพูดจึงเป็นเรื่งอที่ผู้อื่นเพียงแต่สามารถแนะนำหลักการให้เราเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดตัวเราเองจะต้องเป็นผู้พร้อมเสมอที่จะ"เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง"เพราะเรื่องของการพูดเก่งนั้นเป็นเรื่องของทักษะที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ไม่มีใครหรอกครับที่เกิดมาแล้วก็พูดได้เก่งเลย อย่างที่มีผู้กล่าวไว้ได้อย่างน่าคิดว่าทุกคนที่เกิดมา"พูดได้"เหมือนกันหมดแต่จะไม่ทุกคนที่"พูดเป็น" และเคล็ดที่ไม่ลับของการเป็นนักพูดที่ดีมีประสิทธิภาพที่ผมจะนำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้ก็ไม่ใช่สิ่งสลับซับซ้อนอะไรหรอกครับ เพียงแต่เป็นหลักการที่สำคัญเอามาก ๆ ทีเดียว ที่ผู้ฝึกพูดทุกคนจะมองข้ามไปเสียมิได้เลย หลักการที่ว่านั้นมีอยู่ด้วยกัน ๑๒ ประการดังนี้ครับ

๑. เชื่อมั่นในตัวเรา

๒.อย่าดูเบาเรื่องเเต่งกาย

๓.ท่าทางต้องผึ่งผาย

๔.ก้าวเดินไปอย่างมั่นใจ

๕.ทักทายให้เข้าท่า

๖.อีกใบหน้าต้องแจ่มใส

๗.รู้หลักการใช้ไมฯ

๘.ภาษาไทยต้องชัดเจน

๙.น้ำเสียงดังพอเหมาะ

๑๐.สายตาเกาะกวาดทั่วเห็น

๑๑.เวลาครบจบตามเกณฑ์

๑๒.สรุปเน้นให้จับใจ

ประการที่ ๑ เชื่อมั่นในตัวเรา

ความเชื่อมั่นในตนเองนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้พูด ๆ ได้ดี ไม่ประหม่า กลัวหรือสะทกสะท้านต่อสิ่งใด ๆ ซึ่งความเชื่อมั่นในตัวเองนี้จะไม่สามารถมีได้เลย ถ้าหากผู้พูดปราศจาก"การเตรียมพร้อม"และ"การซักซ้อม"มาเป็นอย่างดีและเต็มที่ การจะพูดทุกครั้งเราจะต้องมีการเตรียมตัวและรู้ว่าเราจะได้พูดเรื่องอะไร ซึ่งแน่นอนเราจะพูดได้ดีเราต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูด ก่อนพูดจึงต้องมีการค้นคว้าการรวบรวมข้อมูล มีการจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา มีการเรียบเรียงบทพูดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องมีการซึกซ้อมเรื่องที่เราจะพูดนั้น ๆ หลาย ๆ รอบ เพื่อให้การพูดของเราในเวลาพูดจริงสามารถทำได้ดีที่สุด หากไม่มีการเตรียมตัวแล้ว ก็จะเข้าทำนองไป "ขึ้นเขียง"หรือไม่ก็ "ตกม้าตาย"อย่างที่ท่านอาจารย์ผู้สอนได้กล่าวไว้ไงครับ

ประการที่ ๒ อย่าดูเบาเรื่องแต่งกาย

การแต่งกายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพของผู้พูดว่าเป็นเช่นไร และสามารถสร้างความเชื่อถือสนใจใคร่ฟังให้แก่ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ผู้พูดจะต้องแต่งกายให้สะอาด เรียบร้อย เหมาะสมกับสมัยนิยม ที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงกาละเทศะ โอกาสและสถานที่ ๆ เราจะไปพูดว่าเป็นงานอะไร ตัวอย่างเช่นผู้ชายไม่ควรใส่เสื้อยืดกางเกงยีน หรือแต่งเครื่องแบบแต่เสื้อและกางเกงคนละสีกัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็ไม่ควรนุ่งสั้นและเปิดเผยจนเกินไป เป็นต้น รวมทั้งเรื่องของทรงผม ใบหน้า เข็มขัด รองเท้า เน็คไทล์ กลิ่นตัว กลิ่นปาก ฯลฯ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้าเราดูเบาหรือปล่อยปละละเลยก็จะทำให้บุคลิกภาพของเราด้อยหรือเด่นจนเกินไป ซึ่งจะมีผลเสียต่อทัศนคติที่คนฟังมีต่อผู้พูดได้

ประการที่ ๓ ท่าทางต้องผึ่งผาย

โดยทั่วไปท่าทางในขณะพูดถ้าหากเป็นการยืนพูดก็มักจะวางมือไว้ข้างลำตัวอย่างสบาย ๆ หรือไม่ก็ประสานมือไว้ด้านหน้าบริเวณท้อง ถ้าหากมีโต๊ะหรือแท่นยืนอยู่ข้างหน้าก็มักจะวางมือไว้บนโต๊ะหรือแท่นยืนนั้นเสมอ แต่ในบางครั้งการแสดงท่าทางประกอบการพูด เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และทำให้การพูดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะชอบภาพที่เคลื่อนไหวมากกว่าภาพนิ่ง แต่การเเสดงท่าทางประกอบการพูดนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่องที่พูด และจะต้องพอเหมาะพอควรไม่ขัดตาผู้ฟังเพราะความเก้งก้างจนเกินไป ประการสำคัญการใช้ท่าทางประกอบการพูดนั้นจะต้องเรียบร้อย สุภาพ ไม่ซ้ำซากและดูมีชีวิตชีวาด้วย

ประการที่ ๔ ก้าวเดินไปอย่างมั่นใจ

การเดินเป็นการเคลื่อนไหวเริ่มแรกที่สะดุดตาหรือเป็นจุดสนใจของผู้ฟังและเป็นส่วนสำคัญของบุคลิกผู้พูดด้วย ทุกสายตาจะจ้องมองมานับตั้งแต่ผู้พูดลุกจากที่นั่งเดินขึ้นเวที เพราะฉะนั้น การก้าวเดินขึ้นหรือบงจากเวที ผู้พูดจะต้องก้าวเดินด้วยฝีเท้าพอเหมาะไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ต้องไม่เดินหลังโกงหรือยืดหน้าอกหรือกระมิดกระเมี้ยน ระวังอย่าให้หัวไหล่ตึงและทื่อ ขณะเดินก็แกว่งแขนตามสบาย แต่ไม่แกว่งมาจนเกินไปหรือไม่แกว่งเลย เดินขึ้นเวทีอย่างสง่างาม ศรีษะตรง แม้ผู้พูดยังไม่มีคำพูดออกจากปากสักคำ แต่นับแต่ผู้พูดเริ่มเคลื่อนไหวก็เป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ฟังแล้วครับ

ประการที่ ๕ ทักทายให้เข้าท่า

การปฏิสันถารทักทายผู้ฟังก่อนพูด เป็นธรรมเนียมที่ผู้พูดจะละเว้นมิได้เลย ไม่ใช่ว่าพอขึ้นเวทีก็ชักยาวเนื้อหาเลย การทักทายผู้ฟังนอกจากจะเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหายังเป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองกับผู้ฟัง ทำให้ลดความเกร็งหรือประหม่าลงได้ การทักทายผู้ฟังนั้นจะต้องดูสถานการณ์งานที่เราพูดว่าเป็นงานแบบพิธีการหรือไม่ใช่งานพิธีการ เพราะเราจะทักแบบสุ่มสี่สุ่มห้ามิได้ เช่น ถ้าเป็นการเป็นงานคำทักก็มักจะพูดเฉพาะตำแหน่งของประธานหรือผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานเท่านั้น คำแสดงความสนิทสนม เช่นที่รัก ที่เคารพ ก็จะเหมาะสมกับการพูดแบบไม่เป็นพิธีการมากกว่า อีกประการหนึ่งระหว่างที่ทักทายนั้น คำที่ใช้เรียกผู้ฟังอาจเป็นคำที่แสดงความยกย่อง ให้เกียรติ หรือแสดงความเป็นพวกเดียวกัน เช่น ท่าน,พี่น้อง,เรา,พวกเรา,เพื่อน ๆ,น้อง ๆ เป็นต้น

ประการที่ ๖ อีกใบหน้าต้องแจ่มใส

การแสดงออกทางสีหน้าของผู้พูดเป็นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการเป็นนักพูดที่ดี เพราะนอกจากผู้ฟังจะฟังน้ำเรียงเสียงปากแล้วผู้ฟังก็จะดูหน้าผู้พูด เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องที่ตนพูดอย่างลึกซึ้ง เราก็ต้องใส่ความรู้สึกลงไปในใบหน้าด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องที่ตนเองพูดและอากัปกิริยาอื่น ๆ พูดเรื่องเศร้ามากกลับทำหน้าระรื่น หรือพูดเรื่องตลกกลับทำหน้าเคร่งขรึม เป็นต้น ก็ไปด้วยกันไม่ได้ แต่โดยปกติถ้าพูดเรื่องทั่ว ๆ ไป ผู้พูดควรจะกระทำสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีสีหน้าเปิดเผย บรรยากาศจึงจะไม่เครียดและรู้สึกเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังครับ

ประการที่ ๗ รู้หลักการใช้ไม(โครโฟน)

ในกรณีที่การพูดนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ไมโครโฟนเพื่อกระจายเสียงให้ได้ยินโดยทั่วกัน ซึ่งเราจะพบอยู่บ่อย ๆ ในปัจจุบัน การพูดโดยใช้ไมโครโฟนนั้นมีหลักคือ เราต้องกะระยะห่างระหว่างปากกับไมโครโฟนให้พอเหมาะไม่ใกล้เกินไปหรือไกลเกินไป คนที่รู้ตัวเองพูดเสียงดังเสียงมีพลัง ก็ไม่ควรให้ไมโครโฟนใกล้ปากเกินไป คนที่มีพลังเสียงน้อยก็อาจจะขยับไมโครโฟนให้ใกล้ปากนิดหนึ่ง โดยปกติทั่วไปการตั้งระยะห่างระหว่างปากกับไมโครโฟนไม่ควรห่างเกิน ๕-๖ นิ้ว การปรับไมโครโฟนควรปรับให้ตรงปากและเหมาะสมกับความสูงของผู้พูดพอดี ไม่ควรมองไมโครโฟนในขณะพูด และไม่ควรพูดฮัลโหล ฮัลโหลหรือกระแอมกระไอใส่ไมโครโฟนก่อนพูดเด็ดขาด ในกรณีไมโครโฟนมีขาตั้งก็ไม่ควรถอดออกมาจับอีก เมื่อพร้อมที่จะพูดแล้วก็พูดไปเลยด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มครับ

ประการที่ ๘ ภาษาไทยต้องชัดเจน

มีความสำคัญอย่างมากที่ผู้พูดจะต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องกับความนิยมของกลุ่มผู้ฟัง เพราะนอกจากจะใช้ภาษาเป็นสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวเเล้ว ภาษาของผู้พูดยังสื่อให้เห็นถึงรสนิยม ระดับภูมิความรู้การศึกษาของผู้พูดอีกด้วย หลักสำคัญก็คือ ผู้พูดควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบุคคล สถานที่และโอกาส โดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้ฟัง ควรใช้ภาษาสุภาพ เน้นภาษาสนทนา ใช้คำง่าย ๆ เรียบ ๆ สั้น ๆเพื่อความเป็นธรรมชาติและเป็นกันเอง ควรใช้สรรพนามบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ดูสนิทสนม ที่สำคัญอีกอย่างคือ การออกเสียงควบกล้ำ ร,ล ควรถูกต้องและชัดเจนที่สุด พยายามพูดให้ชัดถ้อยชัดคำเป็นจังหวะจะโคนสม่ำเสมอ และไม่ควรมองข้ามเรื่องของสำนวน ศัพท์แสงต่าง ๆ ที่ถูกต้องและทันยุคทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้พูดที่ดีก็คือผู้ค้นคว้าเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ไว้ในคลังปัญญาของตนได้มากที่สุดและพร้อมใช้อยู่เสมอนั่นเอง

ประการที่ ๙ น้ำเสียงดังพอเหมาะ

น้ำเสียงของผู้พูดสามารถที่จะบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดได้เป็นอย่างดี ผู้พูดยินดีที่จะพูด เสียงที่พูดนั้นก็จะสะท้อนทัศนคติและความรู้สึกออกมาให้เห็นอยู่เสมอ การพูดที่ดีนั้นน้ำเสียงจะต้องดังพอสมควร ให้ได้ยินทั่วกัน ความเร็ว,กำลังและหางเสียงจะต้องมีความสมดุลกัน ไม่เร็ว,รัว หรือช้าเกินไป ไม่ดังหรือเบาเกินไป ออกเสียงชัดเจน พอเหมาะและถูกต้องตามความนิยมของสังคม เสียงที่พูดควรจะเป็นเสียงที่แจ่มใส นุ่มนวลชวนฟัง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกนิยมชมชอบและนับถือในตัวผู้พูด การพูดควรมีหางเสียงเสมอ ไม่ควรใช้เสียงเนือย ๆ หรือเสียงระดับเดียวกันตลอดการพูดควรใช้เสียงสูงบ้างต่ำบ้างสลับกันไปตามเรื่องราวที่พูด เพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อและรู้สึกน่าติดตามการพูดของเราไงครับ

ประการที่ ๑๐ สายตาเกาะกวาดทั่วเห็น

สายตานั้นสามารถสร้างความสัมพันธ์และถ่ายทอดความรู้สึกของผู้พูดไปสู่ผู้ฟังได้ ในขณะที่พูดเราควรจะกวาดสายตาไปยังผู้ฟังให้ทั่วกน อาจจะจากซ้ายไปขวาหรือจากขวาไปซ้าย หากสบตาผู้ฟังก็จงแสดงความจริงใจออกมาทางสายตาในขณะนั้น ๆ พยายามมองผู้ฟังอยู่ตลอดเวลา แสดงให้ผู้ฟังเห็นว่าเราสนใจผู้ฟังอยู่ตลอด ผู้ฟังก็จะสนใจฟังเรา หลีกเลี่ยงการมองพื้น เพดาน ประตู หรือมองข้ามผู้ฟังไปผนังหลังห้องหจ้องมองออกนอกห้องไป หรือมองเฉพาะผู้ฟังคนใดคนหนึ่งอยู่เพียงจุดเดียว เพราะจะทำให้เสียบุคลิกภาพของผู้พูดทันที พึงระลึกอยู่เสมอว่าปากพูดตาต้องมองด้วยครับ

ประการที่ ๑๑ เวลาครบจบตามเกณฑ์

ผู้พูดควรใช้เวลาในการพูดครบตรงตามที่ได้กำหนดไว้ เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าผู้พูดสามารถบริหารเวลาเป็นแล้ว ผู้พูดก็จะได้รับความเชื่อถือจากผู้ฟังเป็นอย่างดีด้วย ดังนั้นผู้พูดควรพูดให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ไม่ด่วนจบก่อนหมดเวลาหรือไม่ก็ยืดเยื้อกินเวลาของผู้พูดคนอื่น เพราะอาจทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเบื่อ จะส่งผลเสียทั้งต่อตัวผู้พูดเองและเวลาที่ได้กำหนดกิจกรรมอื่นไว้ด้วย การบริหารเวลาเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ และสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมคือจัดการเรื่องเวลาให้พอเหมาะกับเนื้อหาก่อนจะขึ้นพูดนั่นเอง

ประการที่ ๑๒ สรุปเน้นให้จับใจ

บทสรุปก่อนจะจบการพูดมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเริ่มพูดเลย เราควรนะจบการพูดด้วยคำพูดที่ประทับใจ สร้างสรรค์ สามารถตราตรึงอยู่ในความรู้สึกและความทรงจำของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญก็คือผู้พูดจะต้องสรรหาคำที่สื่อให้ผู้ฟังเห็นว่าผู้ฟังได้รับประโยชน์จากการฟังครั้งนี้ ซึ่งสามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เป็นต้นว่าอาจจะเป็นข้อคิดสะกิดใจ บทกวี คำคม หลักธรรม คำเชิญชวนต่าง ๆ โดยทั่วไปควรจะเป็นการสรุปจบที่สั้น กระชับ จำง่าย และให้ประโยชน์แก่ผู้ฟังได้เป็นสำคัญครับ

เห็นไหมครับว่าสูตรสำเร็จการฝึกพูดทั้ง ๑๒ ข้อนี้สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพการพูดของเราให้เป็นนักพูดที่ดีได้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่าพวกเราจะต้องมีใจรักที่จะฝึกฝนตนเอง เพิ่มความขยันในการฝึกพูดบ่อย ๆ หาโอกาสพูดเพื่อเป็นการฝึกไปในตัวอยู่เสมอ ๆ แต่ต้องไม่ลืมที่จะรับฟังปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากผู้ฟังรอบข้างและหลักการพูดที่ดีหรือคำเเนะนำจากท่านผู้รู้หลากหลาย เพื่อเป็นกระจกส่องตัวเราได้ปรับปรุงตัวเองในสิ่งที่เห็นว่ายังบกพร่อง และพัฒนาสิ่งที่ดีแล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เเล้วการเป็น"นักพูดมีระดับ"หรือการเป็นคนที่ได้ชื่อว่า พูดเป็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันสำหรับพวกเราอีกต่อไปครับ

ปากกับใจ สื่อสัมพันธ์ สรรค์คำพูด

ปากเป็นทูต ให้งานสำเร็จ เสร็จสมหมาย

ปากแสนดี พูดเข้าท่า พาสบาย

ปากอันตราย ตายเพราะปาก ก็มากมี

ปากมงคล หนึ่งนั้นคือ ถือประโยชน์

สองพูดเพราะ เสนาะโสต โทษห่างหนี

สามพูดแท้ แต่ความจริง สิ่งที่ดี

พึงตระหนัก สามหลักนี้ "ปากดี"เอยฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น